เข้าใจ ‘โรคโพลาร์’ อย่างถูกต้องใน ‘วันไบโพลาร์โลก’
ลดการตีตรา ‘โรคโบไพลาร์’ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
ในวันไบโพลาร์โลก 30 มีนาคม ของทุกปีอย่างนี้ น้อง MIND เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับ ‘โรคไบโพลาร์’ หรือ ‘โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว’ ให้มากขึ้นกัน
หลายคนคงเข้าใจว่าโรคไบโพลาร์จะมีอาการ คือ อารมณ์แปรปรวนง่าย เดี๋ยวก็เป็นคนคุยด้วยง่าย อีกเดี๋ยวก็เป็นคนขี้หงุดหงิดภายในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งทำให้เกิดเป็นวลียอดฮิตที่เรามักจะได้ยินว่า
เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อาจจะเป็นไบโพลาร์นะ
แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ไม่ได้มีอาการอย่างที่ถูกตีตราอย่างนั้น
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ปัจจุบันต้องเจอกับความเข้าใจผิดของคนในสังคมอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจผิดในเรื่องอาการของโรคหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ที่บ้างก็บอกว่าคนเป็นไบโพลาร์ไม่น่าทำงานด้วย บ้างก็ว่าคนเป็นไบโพลาร์เอาใจยาก แต่ถ้าเรามีความเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น เราจะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ได้เป็นคนไม่น่ารักหรือน่ากลัวอย่างที่คิด
อาการหลัก ๆ ของโรคไบโพลาร์ คือ จะมีช่วงที่แสดงอารมณ์มากอย่างผิดปกติ ได้แก่
อารมณ์ครื้นเครงหรือคุ้มคลั่ง (Mania) กับ อารมณ์ซึมเศร้า (Depression) โดยมีระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งการแสดงออกทางอารมณ์เหล่านี้จะ ‘รุนแรงมากผิดปกติ’ จนกระทบชีวิตประจำวันและการทำงาน
เช่น ในช่วงที่มีอารมณ์ครื้นเครงจะมีความคิดพรั่งพรู อยากทำทุกอย่างไปหมด พูดเยอะ พูดเร็ว มีเรี่ยวแรงมากผิดปกติ ไม่อ่อนเพลียเลย จนนอนเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์
และในช่วงที่มีอารมณ์ซึมเศร้าจะมีความรู้สึกตัวเองไร้ค่า หดหู่ ไม่อยากทำอะไร คิดอยากจบชีวิต ติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจนำไปสู่การจบชีวิตสำเร็จ
เพื่อน ๆ จะเห็นว่าแพทเทิร์นของโรคไม่ได้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือภายในไม่กี่วัน แต่จะ ‘ใช้ระยะเวลาในการแสดงอารมณ์รุนแรงอย่างผิดปกติอย่างน้อย 1 สัปดาห์‘ เลย ซึ่งต่างจากความเข้าใจและการตีตราของโรคที่ถูกส่งต่อกันอย่างผิด ๆ และแน่นอนว่าความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้ก็ส่งผลให้คนที่มีอาการเหล่านี้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือเพราะกลัวถูกบูลลี่หรือถูกกีดกันจากสังคม
หากเพื่อน ๆ อ่านแล้วสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายหรือเปล่า น้อง MIND ขอแนะนำให้ลองไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องได้นะ ส่วนใครที่มีคนรอบตัวกำลังต่อสู้กับโรคนี้หรือแค่เป็นคนในสังคมด้วยกันเองก็ตาม สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้เพื่อซัพพอร์ตเขา คือ เพิ่มความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ ถ้าเราเข้าใจและรู้ว่าโรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดก็จะช่วยเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนกล้าขอความช่วยเหลือและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องนั่นเอง